พยับเมฆ

Orthosiphon grandiflorusBolding (Labiatae)

พยับเมฆ
พยับเมฆ

พยับเมฆ เป็นไม้ล้มลุกกึ่งเลื้อยต้นและกิ่งก้านยาวเกะกะ ใบรูปไข่ปลายแหลมริมใบจักยาวประมาณ 2 นิ้ว เป็นใบเดี่ยวออกตรงกันข้าม ดอกออกเป็นช่อตั้งตามยอดกิ่ง ช่อยาวประมาณ 6 นิ้ว ดอกทยอยกันบานตั้งแต่โคนขึ้นไปสู่ยอด บานคราวละ 4-5 ดอก ดอกสีขาวอมม่วงอ่อนยาวประมาณ 1 นิ้ว รูปกระบอกปลายแยกเป็น 2 กลีบ กลีบบนกว้างปลายแยกออกเป็น 3 แฉก กลีบล่างรูปช้อนยาวรี เกสรตัวผู้ออกมาพ้นกลีบดอกคล้ายหนวดแมว บางแห่งจึงเรียกไม้นี้ว่าหญ้าหนวดแมว ต้นและใบพยับเมฆมีกลิ่นหอมฉุนกว่ากะเพรา

พยับเมฆ มีถิ่นกำเนิในอินเดียได้กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในเขตร้อน ความจริงพยับเมฆมีขึ้นอยู่ในป่าเมืองไทยมาช้านานแล้ว

พยับเมฆ เป็นไม้ที่ขึ้นง่าย ชอบขึ้นในที่ลุ่มที่มีพื่นดินเย็นชุ่มชื้นสม่ำเสมอ การขยายพันธุ์ใช้การเพาะเมล็ด และตัดกิ่งปักชำ

มีผู้ปลูกพยับเมฆเป็นไม้ประดับเพื่อชมดอกกันบ้าง อาจปลูกในแปลง ตามทางเดินหรือในกระถาง นอกจากนี้พยับเมฆยังมีคุณค่าในทางสมุนไพรด้วย ใบพยับเมฆประกอบด้วยเกลือของโปแตสเซียมในปริมาณสูง มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ คนไข้ที่เป็นโรคไตและโรคบวมน้ำ โดยชงให้ดื่มต่างน้ำ และยังใช้บรรเทาอาการปวดและบวมตามข้อ ผู้เป็นโรคเบาหวานดื่มน้ำสกัดจากใบพยับเมฆจะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดลดลง และลดความดันโลหิต