พญาสัตบรรณ
Alstonia scholaris R.Br (Apocynaceae), Devil Tree, White Cheesewood, Black board Tree, Devil’s Bark.
พญาสัตบรรณ เป็นไม้ป่ายืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 60 ฟุต ลำต้นสูงใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขามาก ใบมนรี ปลายใบมน โคนแหลมก้านใบสั้น ใบยาวประมาณ 5-6 นิ้ว ออกตามข้อเรียงกันเป็นวงกลุ่มวงละประมาณ 7 ใบ ดอกออกเป็นช่อใหญ่สีขาวอมเหลือง แต่ละดอกในช่อคล้ายดอกเข็ม ช่อหนึ่งจะรวมมีกลุ่มดอกย่อย ๆ ราว 7 กลุ่ม มักบานสะพรั่งพร้อมกัน ดอกมีกลิ่นหอมเย็น ฝักเป็นเส้นยาว ๆ มีเมล็ดเล็ก ๆ มีปุยติดปลิวไปได้ไกล
พญาสัตบรรณนี้คงมีผู้นำมาจากอินเดียชื่อจึงเป็นภาษาถิ่นเดิมด้วยคำว่า สัตบรรณ แปลว่า 7 ใบ เป็นลักษณะขอบใบวงช่อหนึ่งซึ่งมี 7 ใบ สมชื่อสัตบรรณ พญาสัตบรรณมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันในแต่ละท้องถิ่น กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกกะโนะ เขมรปราจีนบุรีเรียกจะบัน ภาคกลางเรียกชะบา ตีนเป็ด (ใบลักษณะคล้ายตีนเป็ด) ลำปางเรียกยางขาว (เนื่องจากมียางขาวทุกส่วนของต้น) บางแห่งก็เรียกสัตบรรณหรือหัสบรรณ
ไม้ต้นนี้ปลูกขึ้นง่าย ไม่เลือกดิน เป็นไม้กลางแจ้ง ต้นใหม่เกิดจากรากก็ได้ การขยายพันธุ์ใช้เพาะเมล็ดหรือปักชำกิ่ง
พญาสัตบรรณอาจปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อชมใบที่สวยแปลกตาถ้าจะชมดอกก็ต้องรอนาน เพราะออกเพียงปีละครั้งราวเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากเป็นไม้ประดับแล้วพญาสัตบรรณ ยังเป็นพืชสมุนไพรด้วย เปลือกใช้ผสมยาแก้บิด แก้ไข้หวัด รักษาหลอดลมอักเสบ ใบตำเป็นยาพอกถอนพิษ ยางจากลำต้นผสมน้ำมันแก้ปวดหู