ชัยพฤกษ์

Cassia fistula Linn (Caesalpiniaceae), Golden Shower, Indian Laburnum, Pudding-pine Tree.

ชัยพฤกษ์
ชัยพฤกษ์

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มากระหว่างไม้ในกลุ่ม Cassia นี้ว่าอะไรเป็นชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ กัลปพฤกษ์ และกาลพฤกษ์กันแน่ อาจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ถือว่าไม้ดอกสีชมพู 2 ต้นในสกุลนี้คือ C.nodosa และ C.javanica เป็นชัยพฤกษ์ แต่โดยทั่วไปถือว่าไม้ดอกสีเหลืองเป็นชัยพฤกษ์ โดยเทียบกับช่อชัยพฤกษ์บนอินทรธนูที่ประดับบ่าเครื่องแบบข้าราชการทั้งชื่อสามัญก็เรียกว่า Golden Shower จึงน่าจะถือว่าไม้ดอกสีเหลืองในสกุลนี้เป็นชัยพฤกษ์มากกว่าดอกสีชมพู ส่วนชื่อพฤกษศาสตร์ของชัยพฤกษ์ที่ทางราชการรับรองนั้นคือ Cassia fistula Linn. และ Cassia renigera Wall อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปส่วนมากนิยมเรียก C.fistula ว่าชัยพฤกษ์จึงขอถือตามที่นิยมกัน

ชัยพฤกษ์ เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม สูงประมาณ 20-50 ฟุต ต้นอ่อนผิวเปลือกเรียบ สีขาวนวลต้นแก่เปลือกสีเข้ม กิ่งตอนชี้ออกไปไกล ใบเป็นใบรวม ใบย่อยเล็กป้อมรูปไข่ ดอกสีเหลืองเป็นช่อยาวห้อยย้อย ดกมาก เมื่อออกดอกจะทิ้งใบ ส่วนมากออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ฝักยาวสีดำ

ชัยพฤกษ์มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ กะเหรี่ยงกาญจนบุรีเรียกกุเพยะ ภาคกลางและภาคเหนือเรียกคูณราชพฤกษ์ ลมแล้ง กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกปีอยู ปูโย เปอโซ แมะหล่าหยู่

ชัยพฤกษ์ถือว่าเป็นต้นไม้ประจำชาติไทย โดยถือว่าเป็นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคลมาแต่โบราณ และมักใช้ไม้นี้ในพิธีสำคัญ ๆ เช่นพิธีลงหลักเมือง ก็ใช้เสาแก่นไม้ชัยพฤกษ์ คทาจอมพล และยอดธงชัยเฉลิมพลก็ใช้แก่นไม้ชัยพฤกษ์

ชัยพฤกษ์ นอกจากใช้เป็นไม้ประดับดูดอกที่สวยสล้างแล้ว ยังใช้ประโยชน์อื่นได้อีกมาก เช่นเนื้อไม้ใช้ทำการก่อสร้าง ฝักใช้เป็นยาช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก แก้ฟกช้ำ เป็นยาระบาย ดอกเป็นยาแก้ไข้ ใบใช้รักษาฝีและโรคผื่นคัน

การขยายพันธุ์ใช้วิธีเพาะเมล็ด